ซัดแหลก! อย่าหัวใส ดร.ธรณ์ ชี้กลยุทธ์เรือนำเที่ยวสุดเสื่อม มักง่ายทำระบบนิเวศพัง

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1016
หางาน,สมัครงาน,งาน,ซัดแหลก! อย่าหัวใส ดร.ธรณ์ ชี้กลยุทธ์เรือนำเที่ยวสุดเสื่อม มักง่ายทำระบบนิเวศพัง

เป็นประเด็นกันอีกแล้วสำหรับภาคการท่องเที่ยวเมืองไทย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแถบอันดามันที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัสความสวยงามกันนับล้านคนต่อปี ล่าสุดก็เกิดกรณีเรือท่องเที่ยวหัวใส ให้บริการนำเที่ยวบริเวณอ่าวต้นไทร เกาะพีพี จ.กระบี่ ใช้อาหารล่อปลาให้เข้ามาอยู่ในท้องเรือเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถลงไปให้อาหารและจับปลาเล่นได้ โดยมีการโปรโมตในโบรชัวร์ของบริษัททัวร์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

งานนี้เป็นข่าวแชร์แพร่สะพัดไปในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ด้วยว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคนเปิดประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในโซเชียลมีเดีย เพื่อกระตุกต่อมคิดกับผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว ว่าสมควรหรือไม่ที่มีบริการท่องเที่ยวในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำลายระบบนิเวศแบบนี้ แน่นอน…ยังตั้งคำถามไปถึงจิตสำนึกของนักท่องเที่ยวด้วย

แม้ว่าเรื่องนี้จะจบลงแบบคลาสสิก ด้วยการที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบเจ้าของเรือลำดังกล่าว พร้อมเข้าดำเนินการเข้าจับกุม และสั่งปรับไปแล้ว แต่คำถามคือ สิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้พรมของเรื่องนี้ยังคงมีอยู่ต่อไปหรือเปล่า? ไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง 'ดร.ธรณ์' เพื่อหาคำตอบเพิ่มเติมว่า เหตุใดยังมีการท่องเที่ยวในเชิงเอารัดเอาเปรียบทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่มากมายหลายกรณีขนาดนี้

เรืออะควาเรียมเจ้าปัญหา

ดร.ธรณ์ บอกกับเราว่า จากจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่มีลูกศิษย์ถ่ายภาพนี้มาให้ดู ก็เกิดข้อสงสัยทันทีว่า ทำไมถึงมีบริการนำเที่ยวแบบนี้ได้ทั้งๆ ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ เนื่องจากทางอุทยานฯ มีระเบียบออกมาชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้โยนอาหาร (ขนมปัง) ให้ปลาธรรมชาติในแนวปะการัง

"มีระเบียบที่ออกประกาศปี 56 ระบุไว้ว่าห้ามให้อาหารแก่ปลาทะเล ในเขตอุทยานฯ ด้วยเหตุผลที่ว่า จะทำให้ระบบนิเวศมีความเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความหลากหลายของชนิดปลาในแนวปะการังนั้นลดลงไป แต่ถ้าคุณจะไปให้อาหารปลากันที่อื่น ก็ทำได้ มันไม่มีกฎหมายห้าม แต่ถ้าในเขตอุทยานฯ มันมีกฎหมายบังคับอยู่" ดร.ธรณ์บอก

หากมองผิวเผิน หลายคนคงคิดว่าการที่เรือท่องเที่ยวล่อปลาให้เข้ามาใต้ท้องเรือให้นักท่องเที่ยวจับเล่น นั่นคือเป็นการทำให้ปลาตาย และส่งผลต่อระบบนิเวศ แต่จริงๆ แล้วปัญหานั้นกลับเป็นเรื่องน้อยนิด เมื่อเทียบกับการทำให้ความหลากหลายของชนิดปลาในแนวปะการังลดจำนวนลง

"การเลี้ยงปลา ไม่ว่าคุณจะทำบนเรือแบบนี้ หรือว่าจะโยนขนมปังให้ปลากิน มันส่งผลเสียต่อระบบนิเวศแน่ๆ เพราะว่า ปลาที่มากินขนมปังเป็นปลาต่างถิ่นมาจากที่อื่น มีอยู่ไม่กี่ชนิดเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว เช่น ปลาเสือ หรือปลาสลิดลายบั้ง พอมันมาอยู่แล้วมีขนมปังให้กินเยอะ มันก็ออกลูกออกหลาน ไล่ปลาชนิดอื่นที่อาศัยในแนวปะการังอยู่ดั้งเดิมกว่า 600 ชนิดนี้ออกไปจากถิ่นอาศัย ปลาดั้งเดิมในแนวปะการัง จำพวกปลาผีเสื้อ ปลาการ์ตูน ปลาสินสมุทร ก็ต้องหนีไป พอไม่มีที่อยู่พวกมันก็ตาย เพราะฉะนั้นเห็นชัดเจนมาก ว่ามันส่งผลต่อความหลากหลายทางระบบนิเวศตามแนวปะการังโดยตรง"

ความหลากหลายของระบบนิเวศแนวปะการัง

นอกจากนี้ ดร.ธรณ์ ยังเล่าต่อว่า พวกเรือท่องเที่ยวหัวใสบางเจ้ายังมีกลยุทธ์หมัดเด็ดอื่นๆ อีก ที่ออกแบบมาเพื่อล่อตาล่อใจนักท่องเที่ยวให้มาซื้อบริการเที่ยวกับบริษัทของตัวเองอย่างไม่แคร์อู่ข้าวอู่น้ำของตัวเองเลยสักนิด ไม่ว่าจะเป็น

1. การให้บริการพานักท่องเที่ยวไปดูปลาการ์ตูนในระยะใกล้กับแนวปะการัง แล้วจับปลาขึ้นมาเล่นได้

2. การให้บริการดำน้ำลงไปจับหอยมือเสือ ดาวทะเล ขึ้นมาเล่นบนผิวน้ำ เป็นต้น

3. กรณีล่าสุดก็คือการดัดแปลงเรือให้ท้องเรือกระจกเปิดโล่ง แล้วใช้อาหารล่อให้ปลาเข้ามา เพื่อให้นักท่องเที่ยวให้อาหารปลาและจับเล่น

การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนอกจากการลงมือตรวจสอบ และเข้าจับกุมผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวที่ทำผิดระเบียบแล้ว ดร.ธรณ์ บอกว่าตนได้นำเสนอเรื่องนี้ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผลักดันให้อันดามันเป็นมรดกโลก เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลในน่านน้ำฝั่งอันดามันได้อย่างทั่วถึง ส่วนประชาชนทั่วไปรวมถึงผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวนั้น ดร.ธรณ์ ได้ฝากข้อแนะนำในการท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ไว้ดังนี้

เรือทัวร์ ให้บริการพานักท่องเที่ยวไปยังจุดต่างๆ

1. สำหรับนักท่องเที่ยว ไม่ควรโยนอาหารเลี้ยงปลาที่อยู่ในแนวปะการัง

เมื่อไปเที่ยวทะเลในแถบที่มีแนวปะการังสวยงาม อย่าโยนขนมปังให้ปลา เพราะปลาตามแนวปะการัง (ปลาการ์ตูน ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร) ไม่กินขนมปัง ซ้ำร้ายยังดึงดูดให้ปลาที่กินขนมปัง (ปลาเสือ) ซึ่งเป็นพวกก้าวร้าวให้มายึดบ้านของพวกมันไปอีกด้วย

2. สำหรับผู้ประกอบการ อย่าดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยวิธีที่เสี่ยงต่อการทำลายระบบนิเวศ

ในแถบประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายหาดสวยงามใกล้เคียงกับบ้านเราอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ การทำลายความหลากหลายในระบบนิเวศถือเป็นเรื่องใหญ่ และเขามีการปกป้องทรัพยากรทางทะเลอย่างเข้มงวด แต่ในบ้านเรากลับพบว่ายังหละหลวมเรื่องเหล่านี้อยู่มาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว ควรจะหันมาตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติให้มากกว่านี้ ไม่ใช่มาทุบหม้อข้าวตัวเอง ไม่ควรปล่อยให้นักท่องเที่ยวทำทุกอย่างได้ตามอำเภอใจ หากเห็นอะไรที่มันไม่เหมาะไม่ควร ก็ต้องแนะนำไปว่าทำไม่ได้ เพื่อเป็นการรักษาอู่ข้าวอู่น้ำแห่งนี้ให้ยังอุดมสมบูรณ์ สวยงาม ไปนานๆ


ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : Thon Thamrongnawasawat

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top